ฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหา

ผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่น PM2.5 ที่กำลังกลับมาอีกครั้งในช่วงสิ้นปี 2020 นี้

AFRICVS ได้สรุป 9 ประเด็นที่น่าสนใจจากบทความที่ WHO ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่น PM10 และ PM2.5 เพื่อกระตุ้นให้มีการออกมาตรการลดมลพิษทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพในปี 2013 ดังนี้

  1. ฝุ่น PM10 และ PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากจนสามารถเล็ดลอดเข้าไปในทรวงอกผ่านทางระบบทางเดินหายใจได้
  2. การได้รับฝุ่น PM ในระยะสั้น (ชั่วโมง-วัน) และระยะยาว (เดือน-ปี) จะส่งผลให้
    1. เกิดการเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจและระบบหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคหอบหืด การหายใจผิดปกติ
    2. เกิดการเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งปอด
  3. ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากระบบหัวใจและปอดเนื่องจากได้รับฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานานจะเพิ่มขึ้น 6-13% ต่อปริมาณ PM2.5 10 µg/m3
  4. การได้รับฝุ่น PM2.5 ทำให้อายุขัยของประชากรลง 8.6 เดือนโดยเฉลี่ย โดย 1 ใน 30 คนมีปัญหาทางหัวใจและปอด และ 1 ใน 20 ของการตายจากโรคมะเร็งปอดมีสาเหตุจากฝุ่น PM
  5. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มอ่อนไหว ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวในด้านปอดและหัวใจ ผู้สูงอายุ และเด็ก เช่น ฝุ่น PM จะส่งผลต่อการพัฒนาปอดในเด็ก รวมถึงการทำงานของปอดในระยะยาว
  6. WHO ได้กำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ AQGs (Air Quality Guidelines) 2005
    1. ค่าเฉลี่ย PM2.5 ต่อปีไม่เกิน 10 µg/m3 และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 25 µg/m3
    2. ค่าเฉลี่ย PM10 ต่อปีไม่เกิน 20 µg/m3 และค่าเฉลี่ย 50 ชั่วโมงไม่เกิน 25 µg/m3
  7. เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศลงได้ 80% โดยอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและนานาชาติ
  8. การลดมลพิษทางอากาศให้ประโยชน์ในหลากหลายมิตินอกเหนือไปจากด้านสุขภาพ เช่น การลดการเผาไหม้นอกจากจะลดฝุ่น PM แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอันเป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนเช่นกัน
  9. นโยบายการวางผังเมืองและระบบคมนาคมที่คำนึงถึงการเดินเท้า ปั่นจักรยาน ระบบขนส่งสาธารณะจะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ส่งเสริมการขนส่งเพื่ออากาศสะอาด และส่งเสริมสุขภาวะของคนในเมือง

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคารทั้งในขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมภายในอาคารที่ดีให้กับผู้ใช้อาคาร ซึ่งในปัจจุบันก็มีเกณฑ์การออกแบบอาคารเขียวและอาคารส่งเสริมสุขภาวะผู้ใช้อาคารออกมามากมาย เช่น LEED หรือ WELL จากสถาบันอาคารเขียวอเมริกา และ TREES หรือ SOOK จากสถาบันอาคารเขียวไทย เป็นต้น

หวังว่าข้อสรุปทั้ง 9 ข้อนี้จะมีส่วนช่วยให้ทุกคนเข้าใจถึงอันตรายของฝุ่น PM และหันมาให้ความสำคัญในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับตัวบุคคล องค์กร ภาครัฐ และระดับชาติต่อไป

อ้างอิงจาก
https://www.euro.who.int/__data/assets/pdf_file/0006/189051/Health-effects-of-particulate-matter-final-Eng.pdf
Business photo created by diana.grytsku – https://www.freepik.com/diana-grytsku