Net Zero (Architecture and City) ภารกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

หนึ่งในอาคารที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Net-Zero Energy Architecture ในยุคปัจจุบัน ที่วงการสถาปัตยกรรมกล่าวถึงมากที่สุดอาคารหนึ่งก็คือ อาคารเรียน 4 คณะการออกแบบและสิ่งแวดล้อม (School of Design & Environment – SDE4) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore – NUS) เปิดใช้งานในปี 2019 ซึ่งอาคารนี้ ได้รับรางวัลและการรับรองอาคารระดับนานาชาติจำนวนมาก ได้แก่ Zero Energy Certification by the International Living Future Institute (ILFI) และเป็นอาคารหลังแรกในประเทศสิงคโปร์ที่ได้รับรองมาตรฐานอาคารสุขภาวะดี WELL Certification ระดับ Gold จาก IWBI (International Well Being Institute) และเป็นอาคารเรียนแห่งแรกของโลกที่ได้รับรองมาตรฐาน WELL จุดเด่นของอาคาร SDE4 นี้ ไม่ใช่เทคโนโลยีชั้นสูงเป็นหลัก แต่เป็นการใช้ Passive Design (การออกแบบเพื่อความน่าสบายตามธรรมชาติ) มาเป็นจุดที่นำการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้องกับสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มีการระบายอากาศวิธีธรรมชาติที่ได้ผล การกันแดดและกันฝนสาดที่มีประสิทธิภาพ การใช้แสงสว่างอย่างพอเหมาะ ไม่ร้อนเกินไปหรือเกิดแสงจ้าแยงตาผู้ใช้อาคาร รวมทั้งการใช้พัดลมเพดานแทนการเปิดเครื่องปรับอากาศในบางบริเวณ จนสามารถลดการใช้พลังงานได้มากกว่าอาคารทั่วไป และสามารถใช้พลังงานทดแทนจากแผ่นโซลาร์บนหลังคาอาคารให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานของอาคาร

ผู้ออกแบบอาคาร SDE4 ได้เคยกล่าวไว้ว่าหลังคาอาคารในประเทศสิงคโปร์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 280 kWh ต่อตารางเมตรของพื้นที่หลังคา[1] ซึ่งถ้าหากอาคารใช้พลังงาน 70 kWh ต่อตารางเมตร ก็หมายความว่าจะสามารถสร้างอาคารได้ 4 ชั้น โดยใช้พลังงานจากหลังคาได้และสามารถเป็นอาคาร Net-Zero Energy Building ได้ แต่ถ้าไม่ออกแบบอาคารให้ใช้พลังงานน้อยลงตั้งแต่ต้น พื้นที่หลังคาก็มีไม่เพียงพอต่อการผลิตพลังงานให้อาคาร การจะออกแบบอาคารในเขตร้อนชื้นให้ใช้พลังงานเพียง 70 kWh ต่อตารางเมตร  ก็ต้องเน้นที่การลดการใช้พลังงานเพื่อการปรับอากาศเป็นสำคัญ เพราะการปรับอากาศในอาคารเขตร้อนนี้ ถือว่าเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของการใช้พลังงานทั้งอาคาร ซึ่งทำให้การศึกษาลักษณะอากาศของเขตอากาศแบบต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ โดยการพิจารณาวิธีการออกแบบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular Architecture) จากเขตอากาศต่าง ๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ไปถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายปรากฎการณ์การถ่ายเทความร้อน การทำความเย็น การสะสมความร้อนและความเย็นของอาคาร[2]

อาคาร SDE4 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

(ที่มา: https://cde.nus.edu.sg/news-detail/sde4-wins-award-for-leadership-in-sustainability/)

ตัวอย่างของการออกแบบ Climate Responsive Design ที่เห็นได้จากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเขตต่าง ๆ สามารถยกตัวอย่างได้เช่น บ้านอิกลูของชาวเอสกิโมในเขตขั้วโลก ที่ใช้รูปทรงกระชับกลมเกลี้ยงไม่ต้านลม วางผังแบบไม่กระจัดกระจาย ไม่ต้องการหน้าต่าง และไม่มีการหันทิศทางอาคารเพราะไม่จำเป็น เนื่องจากอากาศหนาวเย็นจัด ลมหนาวมาจากทุกทิศ จึงต้องทำประตูทางเข้าเป็นหลาย ๆ ชั้นเพื่อลดการรั่วซึมของอากาศหนาวเข้ามาสู่ภายในส่วนนอน ในอีกกรณีคือบ้านในเขตทะเลทราย หรือบ้านมุสลิมมีการออกแบบพื้นที่คอร์ทปิดล้อม เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนแห้ง การไม่มีหน้าต่างก็เพื่อหลีกเลี่ยงลมร้อนที่จะพัดพาความร้อนและฝุ่นทรายเข้าสู่อาคาร การออกแบบพื้นที่คอร์ทปิดล้อมช่วยให้อาคารรักษาความเย็นเอาไว้ในคอร์ทภายในอาคาร เมื่อร่วมกับการใช้วัสดุมวลสารมากเช่นอิฐหรือดินเหนียว ก็จะทำให้อาคารมีลักษณะของ Thermal Mass ที่หน่วงความร้อนในเวลากลางวัน และเก็บกักความร้อนเพื่อสร้างความอบอุ่นในเวลากลางคืน

เขตอากาศที่มีสภาพรุนแรงทั้งแบบขั้วโลกและแบบทะเลทรายทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์เป็นไปได้อย่างยากลำบาก การใช้ชีวิตกับสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นไปได้อย่างยากลำบาก สถาปัตยกรรมถูกคิดมาเพื่อปกป้องพื้นที่ภายในจากสภาพอากาศภายนอกที่รุนแรง ในขณะที่สภาพอากาศในเขตอากาศที่น่าสบายขึ้นเช่นเขตชายฝั่งทะเลตะวันตก (Marine West Coast) เขตริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean) และเขตร้อนชื้น (Tropical) สถาปัตยกรรมจะมีการพึ่งพากับสภาพอากาศภายนอกมากขึ้น เช่นในเขตชายฝั่งทะเลตะวันตกก็จะออกแบบอาคารให้มีหน้าต่างกระจกมาก ๆ เพื่อดักรังสีอาทิตย์ให้กักเก็บเป็นความร้อนไว้ใช้ทำความอบอุ่นให้พื้นที่ภายใน (Passive Solar Design) หรือในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อากาศเย็นสบาย แต่แสงแดดแรง ทำให้ร้อนได้ จึงออกแบบให้อาคารได้รับร่มเงาจากทิวเสา (Colonnade) หรือใช้หน้าต่างบานเกล็ดไม้ ที่ทำหน้าที่บังแดดแต่ให้ลมผ่านได้ดี ทำให้เกิดความน่าสบาย

ในขณะที่เขตอากาศแบบร้อนชื้น หรือ Tropical แบบบริเวณเอเชียอาคเนย์ เช่นภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งเขตป่าดงดิบลุ่มแม่น้ำอเมซอน และบางส่วนของอัฟริกา อากาศแบบร้อนชื้นเป็นอากาศที่ไม่น่าสบายนักความชื้นในอากาศจะทำให้การถ่ายเทความร้อนจากร่างกายด้วยเหงื่อเป็นไปได้อย่างลำบาก เมื่อร่วมกับความร้อนภายนอกแล้วจะเกิดสภาพที่ร้อนเกินไป ความชื้นในอากาศจะทำให้ท้องฟ้ามีเมฆมาก เป็นผลทำให้อุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนไม่แตกต่างกันมากนัก การใช้ความเย็นในเวลากลางคืนเพื่อดูดซับความร้อนสะสมจากกลางวันจึงไม่ได้ผล อาคารในเขตนี้จึงมักจะก่อสร้างด้วยวัสดุมวลเบาเช่นไม้ เพื่อมิให้ความร้อนในเวลากลางวันสะสมในเนื้อวัสดุจนทำให้กลางคืนร้อนตามไปด้วย อาคารในเขตนี้ยังคงต้องอาศัยการระบายอากาศเพื่อลดความชื้นและใช้การกันแดดเพื่อลดความร้อน โดยจะใช้หลังคาทรงสูงเพื่อป้องกันความร้อนจากหลังคา

อาคารพื้นถิ่นเหล่านี้ สามารถสร้างความน่าอยู่น่าสบายมาได้ด้วยวิธี Passive Design โดยไม่ได้ใช้พลังงาน และนับว่าเป็น Zero Energy Building ได้เช่นกัน แต่จนกระทั่งการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ให้มีความหนาแน่นสูง ขาดพื้นที่เปิดโล่งสีเขียว การระบายอากาศธรรมชาติเกิดขึ้นได้ยาก เพราะอาคารในเมืองบังลมกันเอง ประกอบการสร้างแหล่งความร้อนที่มากขึ้นด้วยยวดยานพาหนะ และเครื่องปรับอากาศที่ระบายความร้อนสู่บรรยากาศเมือง เมืองใหญ่หลายแห่งกำลังประสบปัญหาปรากฎการณ์เกาะเมืองร้อน หรือ Urban Heat Island ที่ทำให้อุณหภูมิอากาศในเมืองสูงขึ้นมากกว่าปกติ นอกจากจะทำให้การออกแบบอาคารด้วยวิธีธรรมชาติ เช่นการระบายอากาศธรรมชาติไม่ประสบความสำเร็จแล้ว อาคารบ้านเรือนในเมืองยังใช้พลังงานมากขึ้นย โดยเฉพาะการทำความเย็น สำหรับกรุงเทพมหานคร มีการวิจัยโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าปรากฎการณ์เกาะเมืองร้อนจะทำให้อุณหภูมิอากาศสูงขึ้นและส่งผลให้อาคารพักอาศัยในเขตกรุงเทพมีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอีก 15%[3] และจะทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอาคารบ้านเรือนเป็นไปได้ยากขึ้น

นอกจากในตัวเมืองกรุงเทพมหานครแล้ว ในเขตรอบนอกเมืองใหญ่ก็ใช่ว่าจะสามารถใช้การออกแบบอาคารบ้านเรือนให้กลมกลืนกับธรรมชาติแบบ Passive Design ได้ เพราะมีมลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ทำให้ผู้คนหันมาใช้ระบบปรับอากาศและปิดอาคารจากอากาศภายนอก ตัวอย่างเช่น อาคารโรงเรียนปัญญาเด่น จังหวัดเชียงใหม่ ที่ออกแบบก่อสร้างด้วยโครงไม้ไผ่ กลมกลืนอยู่กับธรรมชาติ ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นโรงเรียนคาร์บอนต่ำมาโดยตลอดจนกระทั่งไม่สามารถทนรับกับฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหมได้ ก็ต้องปิดผนังทับและติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั้งโรงเรียนในเวลาต่อมา

สภาพแวดล้อมเมืองที่หนาแน่นและไม่มีการวางผังที่ดีเพื่อให้เป็นเมืองที่เอื้อต่อการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้การปล่อยคาร์บอนยังไม่ทิศทางที่จะลดลงได้ตามที่ตั้งเป้ากันทั่วโลก ทำให้ที่ประชุมนานาชาติ COP26 ได้เกิดความพยายามที่จะดำเนินการตามเป้าให้ได้ผลจริง จึงเริ่มมีการกำหนดแผนการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในอนาคต ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ก็พยายามตอบรับกับแผนดังกล่าวและพยายามหาแนวทางการปฎิบัติ หรือ Road Map ให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งสิ่งที่ภาคก่อสร้างอาคารสามารถเริ่มดำเนินการได้ในขณะนี้ก็คือการปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้างอาคารแบบคาร์บอนต่ำ เช่นการเปลี่ยนจากการใช้ซีเมนต์ เหล็ก อลูมิเนียม มาเป็นการใช้วัสดุธรรมชาติเช่น ไม้ ไม้ไผ่ เปลือกไม้คอร์ก ฝ้าย โดยวัสดุธรรมชาติเหล่านี้ มักจะใช้พลังงานในการผลิตที่ต่ำ หรือเรียกว่า Embodied Energy ซึ่งอาคารที่จะเรียกว่าปล่อยคาร์บอนต่ำก็จึงควรเป็นอาคารที่มีค่า Embodied Energy ต่ำ ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงเริ่มคิดค้นวิธีปลูกต้นไม้เพื่อนำมาใช้ผลิตวัสดุก่อสร้าง และพยายามพัฒนาแปรรูปไม้ให้เป็นไม้ลามิเนตที่แข็งแรงเป็นพิเศษ เรียกว่า Cross Laminated Timber และ Glulam เพื่อใช้เป็นโครงสร้างอาคารทดแทนคอนกรีตและเหล็กที่เป็นวัสดุก่อสร้างที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงเนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี การพิจารณาการเป็นอาคารคาร์บอนต่ำ จะประเมินด้วย Embodied Carbon อย่างเดียวไม่ได้ เพราะตลอดอายุการใช้งานของอาคารหลายสิบปี  ยังมีการปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงานในช่วงการใช้สอยอาคาร หรือเรียกว่า Operational Carbon ซึ่งการประเมินการปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงานตลอดช่วงอายุอาคารจะเรียกว่า Life Cycle Carbon ซึ่งมีงานวิจัยโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า Operational Carbon มีปริมาณมากกว่า Embodied Carbon แตกต่างกันไปตามประเภทอาคาร อาคารสำนักงานจะมี Embodied Carbon เพียง 10% ในขณะที่บ้านพักอาศัยจะมี 43% ซึ่งทำให้ผู้ออกแบบต้องระมัดระวังเรื่องวัสดุอาคารบ้านมากกว่าสำนักงาน[4]

จากงานวิจัยที่กล่าวมา เมื่อทราบว่า Operational Energy ตลอดช่วงชีวิตของอาคารมีความสำคัญมาก การออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อให้ได้ Net-Zero Energy Building การออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยจำลองการใช้พลังงาน หรือ Energy Simulation ตัวอย่างวิธีการทำจะเริ่มโดยการเลือกแบบอาคารมาตรฐานมาจำลองว่าถ้าทำการปรับเปลี่ยนการออกแบบ การใช้วัสดุ และอุปกรณ์ต่างๆ จะส่งผลให้ลดการใช้พลังงานลงได้เท่าใด และหากทำการติดตั้งระบบผลิตพลังงาน เช่น แผ่นโซลาร์บนหลังคาแล้ว จะผลิตได้เท่าใด สรุปรวมแล้วจะสามารถทำให้ได้ Net-Zero Energy หรือปริมาณการผลิตพลังงานได้ทั้งปีมีค่าเท่ากับปริมาณการใช้พลังงานทั้งปีของอาคาร ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า สำหรับบ้านพักอาศัย 2 ชั้น พบว่า หากทำการออกแบบบ้าน และการใช้วัสดุที่ป้องกันความร้อนได้ เพื่อให้สามารถประหยัดพลังงานได้อย่างน้อย 24% การติดตั้งแผ่นโซลาร์บนหลังคาประมาณ 8 kW ก็สามารถทำให้บ้านเป็น Net-Zero Energy ได้ โดยใช้เงินลงทุนในการปรับวัสดุบ้านให้ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น 4.5% และจะคืนทุนภายใน 7 ปี แต่ทั้งนี้ ยังไม่ได้พิจารณาว่าอุณหภูมิอากาศของเมืองอาจจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก และทำให้บ้านต้องออกแบบให้มีประสิทธิภาพพลังงานดีขึ้นไปกว่านี้ด้วย

ด้วยเหตุที่กล่าวมา จะเห็นว่าอาคารที่ตั้งอยู่ในเมือง คงจะไม่สามารถเป็น Net-Zero Energy ได้ หากสถานที่ตั้ง ของอาคารไม่ได้ส่งเสริมให้ลดการใช้พลังงาน ซึ่งปรากฎการณ์เกาะเมืองร้อน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มภาระการทำความเย็นของอาคารในเมือง แต่นอกเหนือจากการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากสภาพแวดล้อมเมืองหรือที่ตั้งอาคารนั้นยังมีเรื่องการจราจรขนส่งในเมืองที่ปล่อยคาร์บอนเป็นปริมาณมาก ซึ่งอาจจะมากกว่าที่มาจากตัวอาคารเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมืองชิคาโกเคยทำการประเมินการปล่อยคาร์บอนของอาคารบ้านเรือนในเขตตัวเมืองและรอบ ๆ เมือง และพบว่าหากประเมินการปล่อยคาร์บอนของอาคารต่อตารางเมตรจะพบว่าในตัวเมืองที่เป็นเขตพาณิชยกรรมจะปล่อยมาก แต่หากนำการปล่อยจากการเดินทางของครัวเรือนเข้ามารวมด้วย จะพบว่าอาคารบ้านเรือนที่อยู่นอกเมืองที่ยิ่งไกลจากแหล่งงานกลางใจเมืองจะยิ่งปล่อยคาร์บอนสูงตามระยะทาง

การเดินทางขนส่งในเมืองสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ หากการวางผังเมือง การวางเส้นทางไปยังส่วนต่างๆ ของเมือง สามารถเดินถึงกันได้ง่าย (Walkability) หรือส่งเสริมให้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่กลางเมืองเป็นแบบมิกซ์ยูส (Mixed Use) ที่ให้ผู้ใช้อาคารไม่ต้องเดินทางไกลๆ ทุกวัน ซึ่งมีงานวิจัยศึกษาพบว่าเมืองที่มี Walkability สูง ผู้คนมีโอกาสจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพราะมีเวลาเดินเท้าผ่านหน้าร้านที่ทำธุรกิจร้านค้าขายต่าง ๆ มากขึ้น เกิดเป็นรายได้จากภาษีของเมืองที่เก็บได้มากขึ้น[5] ด้วยเหตุนี้ เกณฑ์อาคารเขียวประเภทการวางผังบริเวณ เช่น LEED for Neighborhood Development (LEED ND) จึงออกเกณฑ์การจัดแบ่งแปลงที่ดิน การจัดวางระบบถนน ทางเท้า พื้นที่เปิดโล่งต่าง ๆ ให้ส่งเสริมการเดินเท้า (Walkable Street) ที่กล่าวถึงทั้งการจัดให้มีทางแยก (Intersection) ไม่น้อยกว่า 54 ทางแยกต่อตารางกิโลเมตร, มีทางแยกทุก ๆ ระยะเดินไม่เกิน 180 เมตร, ทางเท้ามีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาทุกๆ ระยะ 12 เมตร, ผนังอาคารด้านที่ติดทางเท้าให้เป็นกระจกอย่างน้อย 60% และมีประตูทางเข้าอาคารทุก ๆ ระยะไม่เกิน 23 เมตร เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปของการทำ Net-Zero Architecture จะมีประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงดังนี้

  1. อาคารจะปล่อยคาร์บอนหลัก ๆ คือช่วงก่อสร้าง (Embodied or Production) ที่มาจากการใช้วัสดุก่อสร้างมาสร้างอาคาร และช่วงใช้สอย (Operation) ที่มาจากการใช้พลังงาน การใช้น้ำ และการปล่อยน้ำเสียของอาคารตลอดช่วงอายุใช้งานอาคาร
  2. อาคารบ้านพักอาศัยจะมีการปล่อยคาร์บอนช่วง Production เป็นสัดส่วนที่มากกว่าช่วง Operation การใช้วัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำจึงช่วยลดได้มาก ในขณะที่อาคารพาณิชยกรรมจะปล่อยช่วง Operation จากการปรับอากาศ และการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มากกว่า
  3. การประหยัดพลังงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของอาคารในเขตร้อนชื้นจะต้องเน้นเรื่องการป้องกันความร้อน เพื่อลดภาระการปรับอากาศ แต่เมืองใหญ่ที่มีความหนาแน่นสูง และมีปัญหาความร้อน Urban Heat Island จะทำให้การประหยัดพลังงานของอาคารทำได้ยากขึ้น ต้องปรับสภาพแวดล้อมเมืองให้เป็นเมืองประหยัดพลังงาน ซึ่งหากเป็นเมืองในเขตร้อนชื้น ก็ต้องเน้นที่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่ซึมน้ำ และพื้นที่เปิดโล่งให้มีการระบายอากาศได้ดี
  4. ถึงแม้ว่าจะสามารถทำเมืองให้เย็นสบายน่าอยู่ได้แล้ว แต่หากการวางผังเมืองยังเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางสัญจรของผู้คน ทำให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันมาก การปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางก็จะสูงตาม ทำให้การพัฒนาเมืองเริ่มปรับเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำด้วยการทำถนนหนทางให้เป็น Walkable Street ซึ่งมีแนวทางกำหนดไว้ในเกณฑ์ LEED for Neighborhood Development (LEED ND) Version

[1] https://nzeb.in/webinars/design/sde4/

[2] อรรจน์ เศรษฐบุตร (2557). นิเวศวิทยสถาปัตย์ – Ecological Architecture. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ISBN: 978-616-551-822-2

[3] ณัฏฐา ตระกูลไทย และอรรจน์ เศรษฐบุตร (2559). ผลกระทบจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงต่อการใช้พลังงานอาคารในเขตร้อนชื้น. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทยครั้งที่ 12 วันที่ 8 – 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมวังจันทน์ ริเวอร์วิว จ.พิษณุโลก

[4] อรรจน์ เศรษฐบุตร (2555) ดัชนีค่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวของผู้ใช้อาคารในประเทศไทย. วารสารวิชาการสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[5] Peltier, H. (2010). Estimating the employment impacts of pedestrian, bicycle, and road infrastructure-case study: Baltimore. (https://trid.trb.org/view/1094074)