Green Area
หากพูดถึงความยั่งยืนกับงานสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ผู้คนให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวกันมากขึ้น ซึ่งพื้นที่สีเขียวนอกจากจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพกายและใจอีกด้วย ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานให้มีพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ นั้นมีพื้นที่สีเขียวเพียง 7.59 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียวกันมากขึ้น Africvs จึงชวนมาเปิดความเข้าใจ และ ทำความรู้จักกับพื้นที่สีเขียว ที่ไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อเมืองและผู้คน
.
ความหมายของพื้นที่สีเขียว
เดิมทีเมื่อพูดถึงพื้นที่สีเขียวมักจะเข้าใจเป็นพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณ เท่านั้น แต่ในปี 2562 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้กำหนดนิยามของพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ตามแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนไว้ว่า พื้นที่ที่มีพืชพรรณหลากหลายชนิด โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบหลัก ได้รับการดูแลรักษาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม ร่มเย็น ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองและชุมชน รวมถึงเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนด้วย ซึ่งเป็นลักษณะ ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนมีการวางเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวยั่งยืนให้ได้อย่างน้อย 15 ตารางเมตรต่อคน
ตัวอย่าง Vegetated roof
Credit: https://www.edtguide.com/content/toplist/80072
.
ประโยชน์ของพื้นที่สีเขียว
พื้นที่สีเขียว นอกจากจะมีประโยชน์ในการช่วยฟอกอากาศและมลภาวะแล้ว ยังช่วยให้เสริมสร้างสุขภาวะทั้งทางร่างกายจากการเปิดโอกาสให้มีกิจกรรมกลางแจ้ง และสุขภาวะทางใจโดยเป็นพื้นที่ ผ่อนคลาย พักผ่อนหย่อนใจ และ เสริมสร้างกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
.
ในด้านสิ่งแวดล้อมการมีพื้นที่สีเขียวยั่งยืนจะช่วยสร้างถิ่นที่อยู่และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ของพืชและสัตว์ที่อาศัยในท้องถิ่นนั้น หากร่วมกับการออกแบบให้มีพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้ในระดับชุมชน และการผสมผสานพื้นที่สีเขียวในบริบทเมือง เช่นการออกแบบพื้นที่เกาะกลางถนนหรือทางเดินเท้าให้มีพื้นที่สีเขียวร่วมด้วย จะทำให้เกิด green corridor ช่วยเป็นร่มเงาให้แก่เมืองและผู้สัญจรด้วยเท้า ลดความร้อนที่เป็นผลกระทบจากเกาะความร้อนที่ลดลง เนื่องจากพื้นที่สีเขียวจะช่วงลดอุณหภูมิลงผ่านการดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งการคายน้ำของพืชจะช่วยให้อากาศในเมืองนั้นเย็นลง โดยการออกแบบพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องพิจารณาใช้พืชพันธุ์ที่ไม่เป็นชนิดพันธุ์รุกราน เช่นเป็นพืชที่โตในท้องถิ่นที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ ลดการบริหารจัดการและยังช่วยประหยัดน้ำอีกด้วย
.
โดยพื้นที่สีเขียวในเมืองเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ซึมผ่านของน้ำฝน ชะลอปริมาณน้ำฝนที่จะไหลตรงสู่ระบบระบายน้ำของเมือง เพื่อลดความเสี่ยงของน้ำขังรอการระบาย และความเสี่ยงของการเกิดอุทกภัย การออกแบบพื้นที่สีเขียวที่ช่วยบริหารจัดการน้ำฝนสามารถทำได้โดยการออกแบบให้มีพืชที่กักเก็บน้ำและระบบระบายที่เหมาะสม เช่น rain garden ที่เลือกชนิดพันธุ์ต้นไม้ที่สามารถทนทานน้ำท่วมขังชั่วคราว ทำให้สามารถกักน้ำไว้ให้ค่อยไหลซึมลงดิน
Credit: https://www.modernglobe.com/how-to-create-a-rain-garden/
พื้นที่สีเขียวมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายไทยอย่างไร
ในกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สีเขียว เรียกว่า “อัตราส่วนชีวภาพหรือพื้นที่น้ำซึมผ่านได้เพื่อปลูกต้นไม้ต่อพื้นที่ว่าง (Biotope Area Factor, BAF)” หมายถึง พื้นที่ในระดับดินที่จัดไว้เพื่อให้น้ำบนผิวดินซึมผ่านลงสู่ใต้ดินได้โดยสะดวก โดยมีข้อกำหนดให้มีอัตราส่วนของ BAF ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่าง (OSR) โดยการกำหนดพื้นที่ OSR และ BAF ในลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง
.
นอกจากนี้ในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) ยังมีการพิจารณาหลักเกณฑ์เรื่องพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวตามประเภทของอาคาร ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่องสัดส่วนของไม้ยืนต้น และพื้นที่สีเขียวต่อผู้ใช้งานอาคารอีกด้วย
พื้นที่สีเขียวมีส่วนเกี่ยวข้องกับเกณฑ์ LEED อย่างไร
ตามของมาตรฐาน LEED นั้น มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สีเขียวภายในในโครงการเช่นกัน โดยกำหนดให้มีขนาดพื้นที่ “Vegetated Space” หรือพื้นที่ปลูกพืชพรรณไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศ (Ecological Open Space) ที่กำหนดให้ต้องมีอย่างน้อย ร้อยละ 30 ของผืนที่ดินโครงการ โดยพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศนั้นต่างกับพื้นที่ OSR ตามกฎหมาย เพราะจะนับรวมเฉพาะพื้นที่เปิดโล่งที่สามารถถูกใช้งานในการทำกิจกรรมต่างๆได้เท่านั้น ไม่รวมพื้นที่ถนน นอกจากนั้นพื้นที่เปิดโล่งที่เป็นสนามหญ้านั้น ในแง่มุมของ LEED ยังไม่สามารถนำมานับเป็นพื้นที่สีเขียวได้ เนื่องจากข้อจำกัดในความหลากหลายของพืชพันธุ์ และประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าให้พื้นที่สีเขียวในแง่มุมของของ LEED นั้นมีลักษณะสอดคล้องกับพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนที่นิยามโดย สผ.อย่างชัดเจน โดยเน้นให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์โดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ สวยงาม ร่มเย็น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองและชุมชน
.
จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวที่มีต่อเมืองและคนในหลากหลายด้าน รวมถึงแนวทางการออกแบบพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน ที่เน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อ้างอิง