อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (Thai Health Promotion Foundation) ได้รับการรับรอง LEED v4 O+M: Existing Buildings (LEED v4 for Building Operations and Maintenance) ระดับ GOLD ในปี 2022 โดยได้คะแนนการประเมิน LEED v4 O+M:EB สูงสุดเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นอาคารประเภทสำนักงาน mixed-use โครงการที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านการประเมินมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการรับรองทั้ง LEED BD+C และ LEED O+M
เกณฑ์ LEED v4 O+M เป็นเกณฑ์การประเมินสำหรับอาคารที่เปิดใช้งานมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี (Existing building) ที่ผ่านการปรับปรุงอาคารเพียงเล็กน้อย หรือไม่เคยผ่านการปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่ (Major renovation) โดยมุ่งเน้นการวางนโยบายและบริหารจัดการอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คลอบคลุมทั้งในด้าน สถานที่ตั้งอาคาร การประหยัดน้ำ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้วัสดุ คุณภาพอากาศภายในอาคาร รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งทางโครงการต้องส่งบันทึกผลและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาดำเนินการ (Performance period) ให้กับทางคณะกรรมการการตรวจประเมิน
อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (Thai Health Promotion Foundation) ตั้งอยู่บริเวณซอยงามดูพลี สาทร กรุงเทพ ประกอบด้วยตัวอาคาร 6 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น พื้นที่อาคาร 11,164 ตร.ม. มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการออกแบบและการบริหารจัดการอาคาร ดังนี้
ออกแบบอาคารให้โอบล้อมพื้นที่โถงกลางเพื่อให้อาคารบังเงากันเอง (Self-Shading) และใช้พื้นที่โถงกลางได้ในเวลากลางวัน ผังอาคารโปร่งโล่งคล้ายเรือนไทยเพื่อให้ลมไหลผ่านได้จากทุกทิศทางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแอฟริคัสได้ทำการจำลองการเคลื่อนไหวลมผ่านโปรแกรม CFD (Computational Fluid Dynamics) จนได้ทิศทางและขนาดของช่องเปิดที่เหมาะสมเพื่อให้คอร์ทกลางได้รับลมธรรมชาติตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังใช้การคำนวณมุมองศาดวงอาทิตย์ (Solar Geometry) เพื่อออกแบบแผงกันแดดนอกอาคารด้วยโปรแกรม Ecotect Analysis เสริมด้วยระบบแผงกันแดดอัตโนมัติซึ่งปรับองศาตามทิศทางของดวงอาทิตย์ (Sun Tracking Shading Device) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังแดด
พื้นที่ใช้งานประจำได้รับวิวทิวทัศน์ภายนอกอย่างทั่วถึง มีการออกแบบพื้นที่โดยใช้องค์ประกอบทางศิลปะเพื่อให้เกิดสุนทรียภาพต่อผู้ใช้งานอาคาร พื้นที่โถงกลางเปิดโล่ง รับลมและแสงธรรมชาติ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า มีบันไดเชื่อมระหว่างชั้น สนับสนุนการเดินออกกำลังกาย และสามารถมองเห็นกันได้ตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้นดาดฟ้า เปิดโอกาสให้ได้พบปะพูดคุยสานสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กร รวมถึงมีระเบียงเขียว (Green Terrace) ต่อเนื่องกับพื้นที่ภายในอาคาร สามารถใช้เป็นที่พักผ่อน พูดคุย หรือเป็นจุดพักสายตาด้วยพื้นที่สีเขียวโดยรอบโครงการ
ออกแบบพื้นที่ดาดฟ้าให้เป็นหลังคาเขียว (Green Roof) เพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารและกรองมลพิษในอากาศ เลือกพรรณไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อลดการใช้น้ำรดน้ำต้นไม้มากกว่า 40% มีแปลงสวนผักพื้นบ้านตามฤดูกาลและสวนสมุนไพรเพื่อการบริโภคของผู้ใช้อาคาร (edible garden) ส่งเสริมการทำเกษตรในพื้นที่เมือง (Urban Farming) และให้ความรู้กับผู้เข้ามาเยี่ยมชมอาคาร
หลังคาของโถงกลางได้รับการออกแบบเป็นทรงฟันเลื่อย (Sawtooth Roof) ที่มีช่องแสงทางทิศเหนือเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติตลอดทั้งวัน และยังสามารถป้องกันรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่โคจรอ้อมทิศใต้ได้ นอกจากนี้ หลังคาด้านทิศใต้ซึ่งติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ (Solar Cell) สามารถผลิตพลังงานทางเลือกได้ถึงร้อยละ 4.13 ของพลังงานที่ใช้ในอาคารต่อปี โดยนำไปใช้ในระบบไฟแสงสว่างบริเวณทางเดินและลานจอดรถชั้นใต้ดิน เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าของโครงการ
อาคารมีการส่งเสริมการใช้แสงธรรมชาติโดยติดตั้งหิ้งสะท้อนแสง (Light Shelf) ที่หน้าต่าง เพื่อสะท้อนแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในอาคารได้มากขึ้นโดยที่ยังสามารถบังแดดให้กับผู้ใช้งานบริเวณริมหน้าต่าง รวมถึงการออกแบบฝ้าเพดานลาดเอียงตลอดแนวหน้าต่างเพื่อเปิดช่องเปิดและองศาผ้าเพดานให้ได้รับแสงธรรมชาติมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการนำแสงธรรมชาติมาใช้ในส่วนพื้นที่จอดรถใต้ดินผ่านปล่องนำแสง (Light Tube) และออกแบบม้านั่งที่สนามหญ้าด้านบนให้เป็นช่องนำแสง (Skylight)
พื้นที่ทำงานมีการออกแบบแสงสว่างทั่วไป (General light) โดยการติดตั้งโคมส่องแสงขึ้นไปยังฝ้าเพดานให้มีการสะท้อนแสงลงมายังพื้นห้องเพื่อให้เกิดแสงบรรยากาศ (Ambient light) เสริมสร้างบรรยากาศในการทำงาน โดยยังคงความสว่างที่เหมาะสมกับการใช้งานและช่วยลดการเกิดแสงบาดตา (Glare) อีกด้วย นอกจากนี้ มีการเลือกใช้โต๊ะทำงานที่มีโคมไฟ Task light เพื่อให้ผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถปรับเพิ่มความสว่างตามความต้องการโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มความสว่างของพื้นที่ทั้งห้อง ทำให้สามารถลดพลังงานในระบบไฟฟ้าแสงสว่างและลดภาระการทำความเย็นลงได้
ออกแบบเปลือกอาคารประสิทธิภาพสูง เพื่อช่วยลดภาระการปรับอากาศและประหยัดพลังงาน โดยเลือกใช้กระจกสองชั้น (Low-E Double Glass) เคลือบฉนวนกันรังสีความร้อน และติดตั้งแผงกันแดดแนวตั้งด้านทิศตะวันตกของอาคาร เพื่อลดความร้อนที่เข้าสู่อาคาร และควบคุมปริมาณแสงส่องสว่างในอาคาร รวมถึงเลือกใช้วัสดุผิวภายนอกสีอ่อน เพื่อลดการสะสมความร้อนภายในอาคารและบริเวณพื้นที่โดยรอบอาคาร
เลือกใช้วัสดุก่อสร้างและตกแต่งอาคารที่มีนวัตกรรมโดดเด่น เป็นมิตรต่อผู้ที่ใช้อาคารและสิ่งแวดล้อม มีพลังงานสะสมในวัสดุตํ่า (Low- Embodied Energy) สามารถผลิตได้ในท้องถิ่น (Regional Material) เพื่อลดการใช้พลังงานและมลภาวะจากการขนส่ง รวมถึงวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle Material) อาทิเช่น วัสดุที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว ผนังภายในอาคารจากแกนกระดาษหนังสือพิมพ์ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์จากกล่องนมรีไซเคิล
อาคารถูกออกแบบให้มีระบบเติมอากาศบริสุทธิ์ตามมาตรฐาน ASHRAE 62.1-2010 และควบคุมด้วยระบบ Demand control ventilation โดยการติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Sensor) ซึ่งช่วยตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในพื้นที่ และสั่งการไปที่ระบบเติมอากาศให้ปรับเพิ่มลดปริมาณอากาศบริสุทธิ์ให้เหมาะสมตามการใช้งานอยู่เสมอ เป็นการลดภาระการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ นอกจากนี้ มีการเลือกใช้สารทำความเย็นในระบบปรับอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีส่วนประกอบของสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC ที่จะไปทำลายชั้นบรรยากาศ
มีการออกแบบและติดตั้งดวงโคมภายนอกอาคารที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบในเวลากลางคืน และติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าในระบบย่อย เพื่อเก็บข้อมูลการใช้พลังงานไว้ใช้ประกอบการบริหารจัดการอาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเลือกใช้สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำรุ่นประหยัดน้ำ เพื่อลดการใช้น้ำประปาอย่างน้อย 30% และติดตั้งมิเตอร์วัดการใช้น้ำในระบบรดน้ำต้นไม้และระบบหอทำความเย็นเพื่อเก็บข้อมูลการใช้น้ำและวางแผนลดการใช้น้ำในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบและตรวจสอบระบบที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานภายในอาคาร ได้แก่ ระบบปรับอากาศ ระบบควบคุมไฟฟ้า แสงสว่าง และระบบพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์
อาคารมีการจัดเก็บข้อมูลและรายงานผลการใช้พลังงาน และการใช้น้ำในอาคารจากมิเตอร์ย่อยที่ติดตั้งไว้ ภายในระยะอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อศึกษาแนวทางและวางแผนการลดการใช้พลังงานและการใช้น้ำในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ จัดให้มีนโยบายการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้อาคารและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดซื้อหลอดไฟที่มีสารปรอทต่ำ และจัดให้มีนโยบายและดำเนินการทำความสะอาดพื้นที่ภายในอาคาร รวมถึงการจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้อาคารและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โครงการยังจัดให้มีการสำรวจ ประเมินผล และดำเนินการจัดการและปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร และให้ความรู้ด้านการออกแบบอาคารที่ยั่งยืนและการบริหารจัดการพลังงานอาคารผ่านสื่อต่างๆ
นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะยังมีการออกแบบให้มีพื้นที่สนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดี (Well-being) ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่นในการใช้งาน ความร่วมมือกันในการทำงาน รวมถึงความสบายใจระหว่างการทำงาน ให้แก่พนักงานที่มีความหลายขององค์กร อาทิเช่น ห้องสมาธิ ห้องละหมาด ห้องให้นมบุตร ห้องฟิตเนส บันไดส่วนกลางที่มีเสียงดนตรีขณะใช้งาน และการติดตั้งประติมากรรมและงานศิลปะ ตามจุดต่างๆทั้งภายในและภายนอกอาคาร
Photo copyrights: Africus Co., Ltd.
#LEED #LEEDCertified #ExistingBuilding #สสส #ThaiHealthCenter
LEED